วิธีฝึกสุนัขไม่ให้กัดกัน และห้ามสุนัขกัดกันอย่างไรไม่ให้เจ็บตัว


หากคุณเป็นผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงสุนัข และมีสุนัขมากกว่า 1 ตัว คุณอาจเคยประสบปัญหาสุนัขกัดกัน ทะเลาะกัน จนเลือดตกยางออก หากกำลังเริ่มหมดความอดทนในการห้ามสุนัขไม่ให้กัดกัน คุณอาจต้องเรียนรู้เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ในวันนี้เรานำมาฝากกันเสียหน่อย

สุนัขกัดกันนั้นเป็นเรื่องปกติตามสัญชาติญาณ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยเราจะพบได้ว่าสุนัขเพศเดียวกันมีโอกาสทะเลาะกันและกัดกันได้มากกว่า โดยจะเริ่มทะเลาะและกัดกันเมื่อสุนัขเริ่มมีอายุ 6-12 เดือน และจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเมื่อสุนัขมีอายุ 1-3 ปี

สาเหตุที่สุนัขกัดกัน

อย่างที่ได้บอกไว้ในข้างต้นว่าสาเหตุที่สุนัขกัดกันนั้นอาจมีหลาย ๆ สาเหตุ ซึ่งก่อนที่จะเรียนรู้การฝึกไม่ให้สุนัขกัดกัน เจ้าของต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุเสียก่อน เพื่อที่จะสามารถหาทางป้องกันได้อย่างตรงจุด

ปัญหาเรื่องเขตแดนไม่ชัดเจน – สุนัขเป็นสิ่งมีชีวิตที่หวงเขตแดนมาก ๆ หากมีการแบ่งเขตแดนซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวไม่ชัดเจน อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้

สุนัขที่ขาดการเรียนรู้การเข้าสังคม – ในช่วงอายุ 3-12 สัปดาห์ หากสุนัขไม่เคยเจอสุนัขตัวอื่นเลย มักอาจทำให้สุนัขแสดงอาการก้าวร้าว และมีอาการหลบเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขตัวอื่น เนื่องจากไม่เคยเรียนรู้การเข้าสังคม

ความเป็นจ่าฝูงไม่ชัดเจน – อีกหนึ่งสัญชาตญาณของสุนัขคือการเคารพจ่าฝูง หากอำนาจของจ่าฝูงไม่มีความชัดเจน ก็อาจทำให้สุนัขกัดกันได้

เมื่อมีสุนัขใหม่เข้าบ้านหรือสุนัขในบ้านเสียชีวิต – สุนัขที่เหลืออยู่มักจะกัดกัน เนื่องจากต้องจัดลำดับอำนาจจ่าฝูงกันใหม่ (ทำอย่างไรดี เมื่อเจ้าสุนัขตัวเก่าไม่ปลื้มเวลาเจ้าของพาสุนัขตัวใหม่เข้าบ้าน)

ขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาหมากัดกัน

เมื่อเข้าใจสาเหตุและสัญชาตญาณความเป็นสุนัขแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปคือการเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาสุนัขกัดกัน ซึ่งวิธีฝึกสุนัขไม่ให้กัดกัน อาจจะต้องแก้ทั้งพฤติกรรมของสุนัขและเจ้าของ ฝ่ายสุนัขควรเรียนรู้ว่าพฤติกรรมใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ส่วนเจ้าของก็ควรเรียนรู้พฤติกรรมและสัญชาตญาณของสุนัข โดยสามารถทำได้ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 หมั่นสังเกตพฤติกรรมของสุนัข

หมั่นสังเกตว่าบริเวณไหนเป็นบริเวณที่สุนัขมักจะกัดกัน มีท่าทีอย่างไรในการแสดงความก้าวร้าวใส่กัน อะไรเป็นสาเหตุปัจจัยที่ทำให้สุนัขเริ่มทะเลาะกัน ซึ่งหากเราได้ข้อมูลตรงนี้มาอย่างถูกต้องครบถ้วน จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 ความปลอดภัยต้องมาก่อน

ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของทั้งเจ้าของและของทั้งสุนัข เพราะหากไม่ระมัดระวัง เจ้าของอาจจะโดนลูกหลงถูกกัดเจ็บตัวไปด้วยก็เป็นได้ ดังนั้นก่อนทำการห้ามหรือแยกสุนัขออกจากกัน ควรตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

ขั้นตอนที่ 3 รู้ว่าสุนัขตัวใดเป็นจ่าฝูง

อย่างที่เรารู้กันว่าสุนัขจ่าฝูงมักจะสำคัญตัวเองมากกว่าสุนัขตัวอื่น ๆ ดังนั้น หากสุนัขตัวอื่น ๆ ได้รับความสนใจมากกว่า อาจจะทำให้สุนัขจ่าฝูงรู้สึกไม่พอใจเอาได้ เรามาดูวิธีแก้ไขปัญหานี้กันอย่างถูกวิธีกันเลยดีกว่า

สาเหตุ: เมื่อเจ้าของให้ความสนใจสุนัขตัวอื่นมากกว่าสุนัขจ่าฝูง

ผลลัพธ์: สุนัขจ่าฝูงเกิดอาการอิจฉา ไม่พอใจ อาจจะทำให้ไปกัดสุนัขตัวอื่นได้

วิธีแก้: แก้ที่ต้นเหตุ คือการให้ความสนใจสุนัขจ่าฝูงก่อนเสมอ หากคุณกำลังเล่นกับสุนัขตัวอื่นอยู่ แล้วสุนัขจ่าฝูงเดินมาเล่นบ้าง คุณอาจจะต้องหันไปสนใจสุนัขจ่าฝูงแทนหรือเดินออกมา เพื่อตัดปัญหา

สาเหตุ: เมื่อสุนัขตัวอื่น อยากท้าทายเป็นจ่าฝูง

ผลลัพธ์: สุนัขกัดกันเพื่อแย่งตำแหน่งจ่าฝูง

วิธีแก้: เจ้าของควรเลือกสุนัขที่แข็งแรงและไม่มีปัญหาด้านพฤติกรรมเป็นจ่าฝูง และฝึกสุนัขให้คุ้นเคยกับตำแหน่งนี้ แต่ไม่ลืมที่จะให้ความสนใจสุนัขเท่า ๆ กัน

ขั้นตอนที่ 4 ปรับพฤติกรรมสุนัข

หากสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี เจ้าของจะสามารถแยกสุนัขที่กำลังกัดกันได้ง่ายกว่า หรือสามารถหยุดสุนัขก่อนที่จะทะเลาะกันได้ ฝึกฝนให้สามารถควบคุมสุนัขให้เรียนรู้เรื่องเสียงและสัญญาณมือ เพื่อให้สุนัขเรียนรู้ว่าเมื่อใดที่ควรหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ขั้นตอนที่ 5 พบสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

หากปัญหานี้เกินเยียวยา อาจจะต้องพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับพฤติกรรมสุนัข เพื่อให้สุนัขได้เรียนรู้การเลือกแสดงออกถึงพติกรรมที่เหมาะสมแทนการแสดงออกด้านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

วิธีแยกสุนัขที่กำลังกัดกัน ไม่ให้เจ้าของเจ็บตัว

แน่นอนว่าในบางครั้งเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่สุนัขจะกัดกันได้ แต่เจ้าของควรเรียนรู้ว่าเมื่อสุนัขกัดกันแล้ว ควรทำอย่างไรเพื่อแยกสุนัขที่กำลังกัดกันออกมา โดยที่ไม่ทำให้ตัวเองเกิดอาการบาดเจ็บ สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อสุนัขกัดกัน นั่นก็คือ ไม่ควรใช้เสียงสูง โหวกเหวกโวยวาย ถ้าจะห้าม แนะนำให้ตะโกนด้วยเสียงดัง ๆ สั้น ๆ เพื่อให้หยุด ห้ามใช้มือจับแยก หรือตีหมาเด็ดขาด เพราะจะยิ่งเป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้สุนัขกัดกันหนักกว่าเดิม และวิธีในการแยกสุนัขที่กำลังกัดกัน มีดังนี้

รัดสายจูงดึงบริเวณสะโพก

รอดูจังหวะที่สุนัขเริ่มกัดติดกันไม่ยอมปล่อยเพื่อป้องกันสุนัขแว้งหันมากัดเรา จากนั้นใช้สายจูงรัดบริเวณใต้ท้องด้านหลัง แล้วดึงแยกสุนัขออกจากกันทันที ดูจังหวะที่หมาอ้าปากปล่อย เพื่อจะกัดอีกรอบ จะได้ไม่เป็นการกระชากดึงสุนัขอีกฝ่ายให้เจ็บตัวมากกว่าเดิม จากนั้นผูกสายจูงไม้กับต้นไม้หรือเสา หรือขาโต๊ะที่แข็งแรงมากพอ และที่สำคัญคือควรดึงสุนัขพร้อมกันทั้ง 2 ตัว เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามากัดสุนัขที่ถูกดึงออกมา

กั้นด้วยแผ่นไม้

เมื่อสุนัขกำลังกัดกัน ให้หาแผ่นไม้ใหญ่ ๆ มากั้นระหว่างสุนัขทั้ง 2 ตัว เพื่อกันให้สุนัขกัดกันลำบากมากกว่าเดิม แต่ไม่ควรใช้ไม้ยาว ๆ มากั้น เพราะสุนัขจะลอดใต้ไม้เพื่อกัดกัน แถมอาจจะแว้งมากัดเจ้าของอีกด้วย

ฉีดน้ำใส่สุนัขทั้งสอง

ให้ใช้สายยางฉีดจ่อสุนัขเพื่อให้สุนัขตกใจ เมื่อสุนัขแยกออกมาให้ช่วยกันจับสุนัขออกไปคนละทางเพื่อป้องกันสุนัขวกกลับมากัดกันอีก อีกทั้งไม่ควรให้สุนัขสบตากัน เพราะจะเป็นการท้าทายให้กัดกันมากกว่าเดิม

คลุมด้วยผ้าห่ม

วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมในต่างประเทศ วิธีการคือนำผ้าห่มแต่ละผืนมาคลุมสุนัขแต่ละตัว สุนัขจะมองไม่เห็นอีกฝ่าย ทำให้เสียสมาธิ จากนั้นจึงช่วยกันจับแยกสุนัขในขณะที่สุนัขอยู่ใต้ผ้าห่ม ทำให้สามารถจับแยกได้ง่ายขึ้น

สุนัขกัดกันอาจดูว่าเป็นปัญหาของสุนัขทั้งสอง แต่เจ้าของก็ควรเป็นผู้รับผิดชอบในการฝึกและห้ามเมื่อสุนัขกัดกันนะคะ ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้สุนัขกัดกัน เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

Ploy

พลอยมีความสนใจเกี่ยวกับสุนัข และชื่นชอบการแบ่งปันประสบการณ์และสิ่งต่าง ๆ ที่พลอยรู้เกี่ยวกับการดูแลสุนัข

Recent Posts