มาเรียนรู้ภาษากายของน้องหมา สำหรับคนรักสุนัขกันดีกว่า


น่าแปลกใจไหม? ที่เราไม่สามารถสื่อสารกับสุนัขผ่านภาษาได้ แต่เรากลับรู้สึกผูกพันและคิดว่าน้องหมาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเรา แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถสื่อสารกันได้ผ่านทางการพูดจา แต่เราสามารถสื่อสารกันได้ ผ่านภาษากาย

และในวันนี้เราก็มีบทความดี ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษากายของน้องหมามาฝากเหล่าคนรักสุนัข ซึ่งมีมากมายให้ศึกษา และสำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงสุนัขนั้น นี่ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ภาษากายต่าง ๆ ของสุนัข เพื่อที่เราจะได้ตอบสนองและเข้าใจในตัวสุนัขของคุณมากขึ้น

สุนัขสื่อสารกับเราอย่างไร

สุนัขนั้นไม่อาจพูดภาษาคนได้ฉันใด แน่นอนว่าคนเราก็ไม่สามารถพูดภาษาสุนัขได้ฉันนั้น แต่สิ่งที่ทำให้สื่งมีชีวิตทั้ง 2 สปีชีส์นี้ สามารถสื่อสารกันได้ คือภาษากาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดออกมานั่นเอง สุนัขมักมีการสื่อสารด้วยท่าทีที่เป็นภาษากาย ซึ่งหากเราคุ้นเคยกับน้องหมาเป็นอย่างดี เราจะเข้าใจน้องได้ไม่ยาก

การแสดงออกของสุนัข ทั้งทางสีหน้า ท่าทาง หรือการแกว่งหาง อาจแปลความหมายได้หลายหลายความหมาย แล้วแต่สถานการณ์ ความฉลาดของสุนัข หรือการจดจำคำพูดของเจ้าของสุนัข

การแสดงออกของสุนัข กับการสื่อสาร ที่เหล่าเจ้าของต้องเรียนรู้

แน่นอนว่าการเรียนรู้ภาษากายของสุนัขนั้นจะต้องอาศัยเวลาและความคุ้นเคย ความผูกพันกันระหว่างทั้งเจ้าของและตัวสุนัขเอง แต่การสื่อสารนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับธรรมชาติการแสดงออกของสุนัข หากอยากรู้ว่าสุนัขกำลังต้องการจะสื่อสารอะไรอยู่ เรามาดูกัน ว่ามีอะไรที่เราควรจะเรียนรู้บ้าง

เรียนรู้ภาษาหาง

การเข้าใจภาษาหางของสุนัข ถือเป็นการเข้าใจสุนัขได้เกือบครอบคลุมทุกอารมณ์ โดยหางนั้นเป็นอวัยวะของสุนัขที่ใช้สื่ออารมณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนี้

  • ส่ายหางเมื่อมีความสุข ดีใจ หรือมั่นใจที่จะทำอะไรบางอย่าง
  • เมื่อหางสุนัขตั้งขึ้น แสดงว่าน้องหมากำลังข่มหรือแสดงอำนาจเหนือสุนัขตัวอื่นอยู่
  • หางจุกก้น แสดงว่าสุนัขกำลังอยู่ในอาการหวาดกลัว หรือหวาดระแวงอะไรบางอย่างอยู่
  • หางตกลงพื้น แสดงให้เห็นว่าสุนัขกำลังเรียนรู้และจดจำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ อีกทั้งกำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจกับอะไรบางอย่างอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

เรียนรู้จากพฤติกรรมการเห่า

นอกจากหางแล้ว การเห่าของสุนัขที่คนเราไม่เข้าใจนั้น ก็ถือเป็นการสื่อสารที่เหล่าคนรักสุนัขต้องเรียนรู้ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยพฤติกรรมการเห่าของสุนัข สามารถเรียนรู้ได้ดังนี้

  • เห่าติดต่อกันเป็นชุด ๆ 3-4 ครั้ง โดยมีช่วงหยุดระหว่างชุด เป็นการเรียกร้องให้เจ้าของมาดูอะไรน่าสนใจตรงนี้
  • เห่าเร็ว ๆ ติดต่อกัน ด้วยโทนเสียงปานกลาง เป็นการเตือนภัยถึงสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ
  • เห่าด้วยเสียงต่ำ ๆ ติดต่อกันช้า ๆ เป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังมีภัยประชิดตัว
  • เห่าแล้วหยุด ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หมายความว่าน้องหมากำลังเหงานะ เข้าไปเล่นด้วยด่วน!
  • เห่าสั้น ๆ 1-2 ครั้ง ถือเป็น การทักทายของสุนัข
  • เห่าครั้งเดียวสั้น ๆ เมื่อเจ้าของหรือสุนัขอีกตัวกำลังเล่นอยู่ด้วย หมายความว่าสุนัขกำลังรู้สึกรำคาญ
  • ลูกสุนัขเห่าติดต่อกัน ถือเป็นการเรียกร้องความสนใจ
  • เห่าครั้งเดียวสั้น ๆ เป็นการเรียกเจ้าของว่าต้องการขับถ่ายหรือหิวแล้ว
  • เห่าติด ๆ กันรัว ๆ และดังขึ้นเรื่อย ๆ หมายความว่าน้องหมากำลังตื่นเต้นหรือสนุกกับอะไรบางอย่างอยู่
  • การครางหงิง ๆ เบา ๆ เป็นการเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ หรืออาจจะกำลังขออะไรบางอย่าง นอกจากนี้อาจจะเป็นการแสดงออกถึงอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย ก็ได้
  • ขู่คำราม หมายถึง ไม่ไว้ใจ รู้สึกเป็นศัตรู เป็นสัญญาณเตือนให้อีกฝ่ายหนึ่งถอยห่างออกไป

ภาษากาย เมื่อน้องหมากำลังบอกรัก

เมื่อน้องหมาบอกรักเรา จะมีพฤติกรรมที่สุดแสนจะน่ารัก น่าเอ็นดู ชวนให้เราปลื้มปลิ่มอยู่เสมอ มาดูกันว่า เมื่อสุนัขบอกรัก จะมีท่าทีอย่างไรบ้าง

  • ทำตาบ้องแบ๊ว หูตก หมายถึง สำนึกผิดแล้วนะ มาดีกันเถอะ
  • นอนหงายท้อง หมายถึง ยอมถวายตัว ยอมแพ้ ต้องการความรัก การสัมผัส
  • ยืดตัวขึ้นเกาะเจ้าของ หมายถึง การบอกว่ารัก เริ่มชวนเล่น ชวนให้เราลูบหัว
  • เลียมือ หมายถึง กำลังเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ อยากอยู่ใกล้ชิด
  • โก่งตูด กระดิกหาง หมายถึง น้องหมากำลังอารมณ์ดี พร้อมทักทายมิตรใหม่ ชวนให้มาเล่นกันเถอะ
  • เหยียดตัว ยืดหัวขึ้นชูชัน หมายถึง การแสดงออกถึงการทักทายเจ้าของ มักทำเวลาเห็นเราตอนเช้า หรือเมื่อเห็นเรากลับมาบ้าน

เข้าใจพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าสุนัขกำลังเครียด หรือวิตกกังวล

สุนัขก็มีอารมณ์เครียดและเป็นกังวลได้ไม่แตกต่างจากมนุษย์ โดยพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นอาจจะชัดเจนจนเจ้าของสามารถสังเกตได้ แต่สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่ทราบ เรามีวิธีสังเกตมาฝาก

  • ยกขาหน้า หมายถึง กำลังอึดอัดไม่สบายใจ ไม่ต้องการการเผชิญหน้า
  • กระพริบตาถี่ ๆ หมายถึง กำลังอยู่ในช่วงใช้ความคิดอย่างหนัก หวั่นใจ ไม่ไว้ใจ กลัวจนเกิดเป็นความเครียดสะสม
  • หางตกลู่เข้าไปใต้ลำตัว หมายถึง ความหวาดกลัว ไม่ต้องการการเผชิญหน้า
  • หูแบนลู่ไปทางด้านหลัง หมายถึง ความรู้สึกหวาดกลัว ไม่ไว้ใจ กระวนกระวาย  ไม่อยากสู้
  • หาวบ่อย ๆ หมายถึง อาการสะสมจากความเครียด กระวนกระวาย รู้สึกขัดแย้งในใจ ต้องใช้ความคิด
  • เกาหรือกัดตัวเอง หมายถึง สุนัขกำลังมีเรื่องกังวล ย้ำคิดย้ำทำ รู้สึกเบื่อหน่าย
  • นอนหมอบคุดคู้เก็บตัวในพื้นที่แคบ หมายถึง ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ไว้ใจ เครียด ต้องการความเป็นส่วนตัว
  • หลบสายตา หมายถึง รู้สึกเครียดจัด ซึมเศร้า ไม่มั่นใจ หวาดกลัว  

ไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ กับสัญญาณการสื่อสารและภาษากายของสุนัข นอกจากจะเรียนรู้ทฤษฎีแล้ว เพื่อน ๆ ตวรหมั่นเรียนรู้จากการสังเกตพฤติกรรมจริง ๆ ของสุนัข รวมทั้งใช้เวลาอยู่กับสุนัขให้มาก ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยซึ่งกันและกันอีกด้วย

Ploy

พลอยมีความสนใจเกี่ยวกับสุนัข และชื่นชอบการแบ่งปันประสบการณ์และสิ่งต่าง ๆ ที่พลอยรู้เกี่ยวกับการดูแลสุนัข

Recent Posts